ในครั้งก่อนจากที่เคยอธิบายคำว่า KAIZEN ไคเซ็น ไปแล้ววันนี้ขอนำเสนอเรื่อง 3 MU เพราะสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกัน แล้วมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?? คนที่ไม่เคยทำกิจกรรม KAIZEN ก็คงจะงงงวยกันอยู่ แต่คนที่ทำกิจกรรมนี้บ่อยคงจะเคยชินกับ 3 คำนี้แน่นอน เราไปดูความหมายกันก่อนดีกว่าค่ะ
คำว่า MU เอามาจากคำแรกของภาษาญี่ปุ่น ได้แก่
ムダ MUDA มุดะ = ความสูญเปล่า
ムラ MURA มุระ = ความไม่สม่ำเสมอ
ムリ MURI มุริ = การฝืนทำ,เกินกำลัง
ถ้า 3 สิ่งนี้ แทรกตัวอยู่ในการปฏิบัติงานจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ สร้างปัญหาในการทำงาน เราจึงต้องทำการกำจัด 3 MU นี้ออกไป ตรงจุดนี้เองที่เชื่อมโยงกับกิจกรรม KAIZEN
Muda, Mura, Muri เป็นคำภาษาญี่ปุ่น Muda คือ ความสูญเปล่า Mura คือ ความไม่สม่ำเสมอ และ Muri คือ การฝืนทำ 3 สิ่งนี้คือปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังการทำงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าเราสามารถกำจัด 3 สิ่งนี้ได้ เราจะสามารถลดเวลาที่ไม่ทำให้เกิดผลงานได้ ในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มเวลาที่ทำให้เกิดผลงานได้มากขึ้น
Muda หรือความสูญเปล่า อาจเกิดได้หลายลักษณะ อาทิ ความสูญเปล่าที่เกิดจากการรอ การเคลื่อนย้าย การปรับเปลี่ยน การทำใหม่ การถกเถียง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น การประชุมอาจเกิดความสูญเปล่าได้ หากการประชุมนั้นกลายเป็นการถกเถียงกัน ทำให้เสียเวลาไปกับการประชุมที่ไม่ได้ข้อสรุป หรือในการทำกิจกรรมการขาย ถ้าไม่มีการวางแผนในการจัดพื้นที่การไปพบลูกค้า ก็จะเสียเวลาในการเดินทางและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
มีการแบ่งความสูญเปล่าออกเป็น 7 ประการ ซึ่งบริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้ยึดถือปฏิบัติมาหลายสิบปีจนประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนี้
- ความสูญเปล่าจากการผลิตเกินกว่าความจำเป็น
- ความสูญเปล่าจากการรองาน
- ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนย้าย
- ความสูญเปล่าจากวิธีการผลิต
- ความสูญเปล่าจากสต๊อกที่มากเกินไป
- ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหวของคนหรือเครื่องจักร
- ความสูญเปล่าจากการผลิตของเสีย
Mura หรือความไม่สม่ำเสมองานที่มีความไม่สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปริมาณงาน วิธีการทำงาน หรืออารมณ์ในการทำงาน ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอของผลงานตามไปด้วย นั่นหมายความว่า ผลงานที่ออกมาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หากทุกคนสามารถรักษามาตรฐานของงานไว้ได้ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของงานสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมไม่เคยมีผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมหน้าเลย ครั้งนี้ขาดนนั้น ครั้งนั้นขาดคนนี้ และในการทำกิจกรรมการขายก็เช่นเดียวกัน พนักงานอาจมีความตั้งในที่ไม่สม่ำเสมอ ถ้าไม่ถึงปลายเดือนก็ไม่พยายามขาย เป็นต้น
Muri หรือการฝืนทำ การฝืนทำสิ่งใดๆ ก็ตามมักทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น การทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ เป็นการฝืนร่างกายซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในการประชุม หากยังไม่มีการปรึกษาหารือที่มากเพียงพอ แต่กลับเร่งรัดให้มีการลงมติ ก็จะได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด ส่วนในด้านการขายนั้น การฝืนลดราคาเพื่อให้ได้รับออเดอร์ หรือการรับงานที่ต้องส่งมอบเร็วเกินไปก็ไม่ส่งผลดีเช่นกัน
หากเราค้นหาและกำจัด Muda ความสูญเปล่า Mura ความไม่สม่ำเสมอ และ Muri การฝืนทำให้หมดไปได้ งานที่ทำก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี