ทำไมต้องจดสิทธิบัตร

1024 724 Mitsumoto
  • 0

     การจดสิทธิบัตร (patent) เป็นมากกว่าการยื่นเอกสารเพื่อขอความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทางกฏหมายแก่งานประดิษฐ์หรืองานออกแบบอุตสาหกรรม แต่ การจดสิทธิบัตร เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบทางกลยุทธ์เหนือคู่แข่ง โดยมี “สิทธิบัตร” เป็นเหมือนเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ

เราอาจจะเคยเห็นว่า ทำไม gillette ถึงสามารถใช้ใบมีดโกนแบบ 3 ใบได้บริษัทเดียว แถมขายกับด้ามมีดของบริษัทตัวเองเท่านั้น ทำไมคนอื่นถึงไม่ทำด้ามมีดมาใช้กับใบมีดของ gillette หละ? หรือทำไมยาบางตัวถึงมีราคาแพง และอยู่ๆมันก็มีราคาถูกลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิบัตร” อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธุรกิจสามารถหากำไรจากสินค้าหรือบริการที่เฉพาะของตน ได้อย่างเต็มที่ในระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อคุณรู้เช่นนั้น อยากจะทำอย่างนั้นและตื่นเต้นที่จะทำได้แบบนั้น คุณก็พร้อมแล้วหละ ที่จะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตร และก้าวเข้าสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตร ที่สามารถบริการจัดการ เขียนสิทธิบัตร ได้อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของคุณ และที่สำคัญคือ มันจะช่วยลดต้นทุนด้านสิทธิบัตรของคุณ จากการจ้างทีมที่ปรึกษาที่เก่งๆ อีกด้วย ถ้าพร้อมแล้ว ซีรีย์ชุดนี้ จะพาคุณเรียนรู้วิธีการจดสิทธิบัตรด้วยต้นเอง ตั้งแต่แนวคิด จนถึงการลงมือปฏิบัติ ที่คุณก็หาอ่านจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ถ้าคุณชอบบทความของเรา อย่าลืมแชร์หรือส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนนั่นเอง

     สิทธิบัตร (Patent) คือเอกสารทางกฏหมายที่ตราไว้เพื่อคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์
สิทธิบัตรให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของในการผลิต ขาย ให้เช่า หรือแจกจ่ายการประดิษฐ์ในประเทศที่ได้รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นเจ้าของสิทธิสามารถกีดกันผู้อื่นจากการผลิต ขาย แจกจ่าย หรือนำเข้างานของเจ้าของสิทธิได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ใช้สอย (Functional Products) หรือเป็นการออกแบบเพื่อตกแต่ง (Ornamental Designs) ซึ่งรวมไปถึงรูปร่าง ลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้อาจนำมาจดสิทธิบัตรได้ แต่การที่จะได้มาซึ่งสิทธิเหล่านี้ ผู้ยื่นจดสิทธิบัตรจำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดและสาระสำคัญของงานต่อสำนักสิทธิบัตรในประเทศที่ต้องการได้รับการคุ้มครอง หากงานประดิษฐ์หรืองานออกแบบใดไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรแล้ว จะเป็นเรื่องยากที่ผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบจะสามารถนำเอาไอเดียนั้นมาพัฒนาต่อยอด และนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเริ่มธุรกิจที่เน้นการพัฒนานวัตกรรม หรือการให้ผู้อื่นเช่าสิทธิ (License-Out) เพื่อที่ผู้อื่นสามารถนำไปผลิต ขาย หรือพัฒนาต่อยอดได้

     อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ  หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

     สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT

PCT ย่อมาจาก Patent Cooperation Treaty เป็นความตกลงระหว่างประเทศสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตร แทนที่จะต้องไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศต่าง ๆ แต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับความคุ้มครอง โดยสามารถที่จะยื่นคำขอที่สำนักงานสิทธิบัตรภายในประเทศ ของตน สำนักงานสิทธิบัตรก็จะส่งคำขอไปดำเนินการตามขั้นตอนของระบบ PCTที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

ระบบ PCT นี้ไม่ได้เป็นระบบการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่จะส่งผลให้ประเทศที่เป็นสมาชิกต้องรับจดทะเบียนตามไปด้วย เนื่องจาก ระบบ PCT จะมีการดำเนินการในขั้นตอนต้น ๆ ของการขอรับสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่มีการรับจดทะเบียนแต่อย่างใด การรับจดทะเบียนสิทธิบัตร PCT เป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอความคุ้มครอง ซึ่งจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอนและเงื่อนไขของกฎหมายภายในประเทศนั้น ๆ ก่อนรับจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อไป ซึ่งประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 ถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 142

     ประโยชน์ของสิทธิบัตร

เอกสารสิทธิบัตรนานาชาติเป็นแหล่งรวมผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั่วโลกที่สำคัญที่สุด ได้เปิดวิธีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกชนิดทุกสาขาทั่วโลก สิทธิบัตรคุ้มครองเป็นรายประเทศ จดทะเบียนในประเทศใด ก็คุ้มครองเฉพาะในประเทศนั้น หมายความว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยมาผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศได้ สามารถผลิตหรือส่งออกไปจำหน่ายในประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรในเรื่องนั้นๆ หรือนำมาใช้เป็นฐานความรู้ในการวิจัยพัฒนาและต่อยอดได้

     ประเภทของสิทธิบัตร

รูปแบบหรือประเภทของสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตรจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

     สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง การคิดค้นเกี่ยวกับ กลไก โครงสร้าง ส่วนประกอบ ของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลไกของกล้องถ่ายรูป, กลไกของเครื่องยนต์, ยารักษาโรค เป็นต้น หรือการคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตสิ่งของ เช่น วิธีการในการผลิตสินค้า, วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น

     สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย หรือสีสัน ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น การออกแบบแก้วน้ำให้มีรูปร่างเหมือนรองเท้า เป็นต้น

     อนุสิทธิบัตร (Petty patent) เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่แตกต่างกันตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตร เป็นการประดิษฐ์ที่มีเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นมาก

Author

Mitsumoto

All stories by: Mitsumoto